แบบทดสอบในแต่ละช่วงวัย โดย Erik Erikson

5 กุมภาพันธ์ 2025

เคยรู้สึกไหมครับว่า…บางครั้งเราต้องเผชิญกับความลังเล ไม่แน่ใจว่าตัวเองควรเลือกอะไร หรือแม้แต่ย้อนมองอดีตแล้วสงสัยว่า "ฉันตัดสินใจถูกต้องแล้วหรือยัง?"

Erik Erikson นักจิตวิทยาและจิตวิเคราะห์ชื่อดัง เสนอทฤษฎีว่า ชีวิตของเราประกอบด้วย 8 ช่วงวัย ที่มาพร้อมกับ "บททดสอบทางจิตใจ" ที่เราต้องเผชิญ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงพัฒนาการทางจิตใจ แต่ยังเป็นผลลัพธ์จากปัจจัยทางชีวภาพ จิตวิทยา และสังคม (Bio-Psychosocial Development) ที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพและการดำเนินชีวิตของเรา

สิ่งที่น่าสนใจคือ พัฒนาการไม่ได้เป็นเส้นตรง เราอาจต้องกลับมาทบทวนบททดสอบเดิม ๆ ในช่วงวัยที่ต่างกัน เช่น แม้เราจะผ่านช่วงวัยรุ่นมาแล้ว แต่ก็อาจกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่า "ฉันเป็นใคร?" หรือ "ฉันต้องการอะไรในชีวิต?"

วันนี้ผมอยากชวนทุกคนมาสำรวจว่า เรากำลังเผชิญกับความท้าทายอะไรในชีวิต? และ เราจะใช้แนวคิดของ Erikson มาช่วยให้เราก้าวข้ามมันไปได้อย่างไร?

8 ช่วงวัยแห่งพัฒนาการของ Erikson:

1. วัยทารก (0-1 ปี) – "ความไว้วางใจ vs ความหวาดระแวง" (Trust vs. Mistrust)

  • บททดสอบ:
  • เด็กในวัยนี้ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาผู้ดูแลทั้งหมด หากได้รับการดูแลที่อบอุ่น มั่นคง เด็กจะเรียนรู้ว่า "โลกนี้ปลอดภัย" และพัฒนา "ความหวัง" (Hope) ในการใช้ชีวิต
  • ผลลัพธ์เชิงลบ:
  • หากไม่ได้รับการดูแลที่ดี หรือถูกทอดทิ้ง เด็กอาจเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีลักษณะ "เก็บตัวเอง" (Withdrawal) และไม่กล้าไว้ใจใครง่าย ๆ

2. วัยเตาะแตะ (1-3 ปี) – "ความเป็นตัวของตัวเอง vs ความละอายและความสงสัยในตัวเอง" (Autonomy vs. Shame & Doubt)

  • บททดสอบ:
  • วัยนี้เป็นช่วงที่เด็กเริ่มเรียนรู้การควบคุมร่างกาย และต้องการทดลองทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ถ้าได้รับการสนับสนุน จะเกิดความรู้สึกว่า "ฉันสามารถควบคุมตัวเองได้" และพัฒนา "ความมุ่งมั่น" (Will)
  • ผลลัพธ์เชิงลบ:
  • หากถูกควบคุมมากเกินไป อาจทำให้เด็กเกิด "การถูกควบคุม" (Compulsion) รู้สึกความสงสัยในตัวเองและกลายเป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจ

3. วัยอนุบาล (3-6 ปี) – "ความคิดริเริ่ม vs ความรู้สึกผิด" (Initiative vs. Guilt)

  • บททดสอบ:
  • วัยนี้เป็นช่วงที่เด็กเริ่มจินตนาการ กล้าคิดกล้าทำ และต้องการลองทำสิ่งใหม่ ๆ ถ้าผู้ปกครองสนับสนุนให้ลองผิดลองถูก เด็กจะพัฒนา "เป้าหมาย" (Purpose)
  • ผลลัพธ์เชิงลบ:
  • หากเด็กถูกตำหนิบ่อย ๆ อาจทำให้เกิด "การยับยั้งตนเอง" (Inhibition) และไม่กล้าแสดงออก

4. วัยประถม (6-12 ปี) – "ความขยัน vs ความรู้สึกต่ำต้อย" (Industry vs. Inferiority)

  • บททดสอบ:
  • วัยนี้เป็นช่วงที่เด็กต้องการพิสูจน์ตัวเอง หากได้รับการยอมรับและคำชม จะพัฒนา "ความสามารถ" (Competence) และมีความมั่นใจในตนเอง
  • ผลลัพธ์เชิงลบ:
  • หากเด็กถูกเปรียบเทียบหรือถูกมองว่า "ไม่เก่ง" อาจทำให้เกิด "ความเฉื่อยชา" (Inertia) และไม่กล้าพยายามพัฒนาตัวเอง

5. วัยรุ่น (12-18 ปี) – "การค้นหาตัวตน vs ความสับสนในตัวเอง" (Identity vs. Role Confusion)

  • บททดสอบ:
  • วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาสำคัญในการ "ค้นหาตัวเอง" ถ้าพวกเขาสามารถค้นพบอัตลักษณ์ที่แท้จริงของตนเอง จะเกิด "ความซื่อสัตย์" (Fidelity) ต่อคุณค่าและเป้าหมายชีวิต
  • ผลลัพธ์เชิงลบ:
  • หากไม่มีโอกาสสำรวจตัวเอง อาจนำไปสู่ "ความสับสน/การปฏิเสธอัตลักษณ์" (Repudiation) และรู้สึกหลงทางในชีวิต

6. วัยผู้ใหญ่ตอนต้น (19-40 ปี) – "ความสัมพันธ์ใกล้ชิด vs ความโดดเดี่ยว" (Intimacy vs. Isolation)

  • บททดสอบ:
  • วัยนี้เป็นช่วงที่เราสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง หากสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้ จะเกิด "ความรัก" (Love) และความสัมพันธ์ที่มั่นคง
  • ผลลัพธ์เชิงลบ:
  • หากล้มเหลวในความสัมพันธ์ อาจทำให้เกิด "ความโดดเดี่ยว" (Distantiation) และรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น

7. วัยกลางคน (40-65 ปี) – "ความรู้สึกนึกถึงผู้อื่น vs ความรู้สึกหยุดนิ่ง" (Generativity vs. Stagnation)

  • บททดสอบ:
  • วัยนี้เป็นช่วงของการสร้างคุณค่าให้สังคม เช่น การทำงาน การเป็นพ่อแม่ หรือการช่วยเหลือผู้อื่น ถ้าทำได้ดี จะเกิด "ความห่วงใย" (Care)
  • ผลลัพธ์เชิงลบ:
  • หากรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า อาจเกิด "ความเหินห่าง" (Rejectivity) และรู้สึกหมดไฟ

8. วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) – "การยอมรับชีวิต vs ความสิ้นหวัง" (Integrity vs. Despair)

  • บททดสอบ:
  • วัยนี้เป็นช่วงที่เรามองย้อนกลับไปในชีวิต หากพอใจกับสิ่งที่ทำมา จะเกิด "ปัญญา" (Wisdom) และยอมรับชีวิตได้
  • ผลลัพธ์เชิงลบ:
  • หากเสียใจกับอดีต อาจเกิด "ความรังเกียจตนเอง" (Disdain) และรู้สึกสิ้นหวัง


สุดท้ายนี้ผมเชื่อว่าชีวิตเป็นการเรียนรู้และเติบโตแบบไม่มีสิ้นสุด ไม่มีช่วงวัยไหนสมบูรณ์แบบ และที่สำคัญคือ "ไม่มีใครต้องผ่านทุกบททดสอบแบบไร้ที่ติครับ"

ขอบคุณที่อ่านมาถึงตรงนี้ครับ

หมอวอป ณัฎฐชัย (จิตแพทย์)



แหล่งอ้างอิง:

  1. Orenstein GA, Lewis L. Erikson's Stages of Psychosocial Development. [Updated 2022 Nov 7]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2025 Jan-.
  2. https://www.latifziyarmd.com/.../erik-erikson-stages-of...
Google+
Line

บทความล่าสุด

การเติบโตเริ่มต้นจากการเข้าใจตัวเอง ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ สำรวจจิตใจ อารมณ์และความคิดผ่านมุมมองทางจิตวิทยา มาร่วมเดินทางแห่งการเรียนรู้ พัฒนา และเติบโตไปด้วยกันกับ wLife

ติดต่อเรา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Line: @454lrxza pn.wellbeing.th@gmail.com
089-6435966
social-icon
social-icon

© 2025 https://www.w-lifeacademy.com/admin