5 กุมภาพันธ์ 2025
1. ความอยากรู้เรื่องคนอื่น คือธรรมชาติของมนุษย์
ธรรมชาติของมนุษย์เราเป็น "สัตว์สังคม" ครับ การติดตามชีวิตของคนอื่น หรือการรับรู้ข้อมูลทางสังคมเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจสิ่งแวดล้อมและสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่มมาตั้งแต่ยุคโบราณ งานวิจัยของ Dunbar (1996) ชี้ให้เห็นว่า กว่าครึ่งของการสนทนาในชีวิตประจำวันของมนุษย์เกี่ยวข้องกับ "การพูดถึงคนอื่น" ซึ่งไม่ได้แปลว่ามันเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี แต่เป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับคนรอบตัวได้มากขึ้นครับ
2. สมองตอบสนองต่อเรื่องราว
การเล่าเรื่องมีพลังในการดึงดูดความสนใจของมนุษย์ โดยสมองจะสร้างการมีส่วนร่วมทางอารมณ์เมื่อเราฟังหรืออ่านเรื่องราว ซึ่งอธิบายได้ว่าทำไมเราถึงติดตามข่าวดราม่า หรือเรื่องราวที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตของคนอื่นได้ง่าย
3. ดราม่าคือ "ความบันเทิง"
หนึ่งในแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คนพูดคุยเรื่องดราม่าหรือ "นินทา" คือเพื่อความบันเทิง (social enjoyment) ซึ่งการกระทำนี้ช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายและเชื่อมโยงกับผู้อื่นผ่านการแบ่งปันความคิดเห็นต่อเรื่องราวที่กำลังเป็นที่สนใจในกลุ่ม
ยิ่งถ้าดราม่านั้นเกี่ยวกับ "คนดัง" ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะและดูเหมือน "ไกลตัว" เรา ยิ่งทำให้รู้สึกสนุก เพราะมันไม่กระทบกับชีวิตของเราโดยตรง
4. การเปรียบเทียบทางสังคม
อีกมุมหนึ่งคือ การเสพข่าวดราม่าของคนดังช่วยสร้างความรู้สึกว่า "อย่างน้อยเราก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น" ซึ่งเชื่อมโยงกับทฤษฎี "Social Comparison" ของ Festinger (1954)
การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นในสถานการณ์ที่ลำบากกว่า อาจช่วยให้เรารู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น เช่น การเห็นว่าความสัมพันธ์ของคนอื่นมีปัญหา อาจทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตคู่ของเรายัง "ดีกว่า" หรือ ในบางคนอาจเกิดความรู้สึกเชื่อมโยง เห็นอกเห็นใจ เพราะตนเองก็เคยพบเจอสถานการ์หรือมีประสบการณ์คล้ายคลึงกัน
5. FOMO (Fear of Missing Out)
ดราม่าของคนดังมักถูกพูดถึงในโลกโซเชียล คนที่ไม่ได้ติดตามอาจกลัวว่าจะ "คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง" ซึ่งเป็นอาการที่เรียกว่า Fear of Missing Out ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผู้คนติดตามข้อมูลหรือกระแสที่กำลังเกิดขึ้น เพราะเกรงว่าจะตกขบวนและไม่มีส่วนร่วมในบทสนทนานั้นครับ
ทั้งหมดที่ผมเขียนมา ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องคิด/รู้สึกแบบนี้ทุกข้อนะครับ เพราะแต่ละคนก็มีความรู้สึกต่างกัน หรืออาจรู้สึกแบบอื่นนอกเหนือจากนี้ก็ได้ครับ
สุดท้ายนี้.. แม้ว่าการสนใจเรื่องของคนอื่นจะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ก็อย่าลืมว่าทุกอย่างควรมีขอบเขตและตั้งอยู่บนสติด้วยนะครับ (ด้วยความเป็นห่วง)
ขอบคุณครับ
หมอวอป ณัฎฐชัย (จิตแพทย์)
----------------------
แหล่งอ้างอิง:
1. Dunar, R. I. M. (1996). Grooming, gossip, and the evolution of language. Harvard University Press.
2. Beersma, B., & Van Kleef, G. A. (2012). Why people gossip: An empirical analysis of social motives, antecedents, and consequences. Journal of Applied Social Psychology, 42(11), 2640-2670.
3. Frith, C. D., & Frith, U. (2006). The neural basis of mentalizing. Neuron, 50(4), 531-534.
4. Festinger, L. (1954). A theory of social comparison processes. Human Relations, 7(2), 117-140.
5. Przybylski, A. K., Murayama, K., DeHaan, C. R., & Gladwell, V. (2013). Motivational, emotional, and behavioral correlates of fear of missing out. Computers in Human Behavior, 29(4), 1841-1848.