5 กุมภาพันธ์ 2025
ในทางจิตวิทยา Present Bias เป็นหนึ่งในอคติทางความคิด (Cognitive Bias) ที่ทำให้เรามักตัดสินใจเลือกผลตอบแทนทันที แม้ว่าผลตอบแทนในอนาคตจะคุ้มค่ากว่าก็ตาม ตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ เรารู้ว่าเงิน 1,100 บาทนั้นมากกว่า 1,000 บาท แต่ความรู้สึกอยากได้สิ่งที่จับต้องได้ทันทีในตอนนี้กลับทำให้เราตัดสินใจเลือกอย่างอื่น
Present Bias มีผลกระทบต่อเราอย่างไร?
ลองดูตัวอย่างในชีวิตประจำวันกันครับ:
1. การออมเงิน
ตั้งเป้าว่าจะเก็บเงินเดือนละ 10,000 บาทเพื่อเป้าหมายใหญ่ เช่น ลงทุนทำธุรกิจ แต่เมื่อได้เงินเดือนมา กลับใช้ซื้อของฟุ่มเฟือยทันที เช่น เสื้อผ้าใหม่ หรือจองทริปท่องเที่ยว
การซื้อของเหล่านี้สามารถตอบสนองความสุขทันทีจากเงินก้อนนี้เลย แต่ก็ละทิ้งโอกาสได้รับความสุขจากการได้เก็บเงินก้อนไปทำธุรกิจดังที่ฝันไว้ (ทั้งๆที่รู้ลึกๆว่าให้ความสุขได้มากกว่า แต่ก็ไม่ดึงดูดเท่าความสุขจากการเที่ยววันนี้)
2. การลดน้ำหนัก
ตั้งใจลดน้ำหนัก 5 กิโลกรัม แต่เมื่อเพื่อนชวนไปกินหมูกระทะก็อดใจไม่ไหว และบอกตัวเองว่า “พรุ่งนี้ค่อยลดก็ได้”
นั้นเพราะเราให้ความสำคัญจากความสุขจากการกินวันนี้ มากกว่าความสุขจากการลดน้ำหนักในอนาคต
3. การทำงาน
มีงานค้างที่ต้องทำ แต่เลือกดูซีรีส์ก่อนค่อยทำ
เพราะความสุขจากการดูซีรีน์ตอนนี้น่าดึงดูดในกว่าความสุขจากงานที่เสร็จ (แม้การทำงานเสร็จจะมีผลต่อความก้าวหน้าของชีวิตในระยะยาว)
Present Bias ไม่ได้มีแต่ข้อเสียเสมอไปนะครับ จริง ๆ แล้วมันมีข้อดีที่ช่วยให้เราได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในปัจจุบันด้วยครับ
โดยการมี Present Bias ไม่ได้หมายความว่าคุณผิดปกติหรือมีข้อบกพร่องอะไรเลยครับ มันเป็นกลไกธรรมชาติของมนุษย์ที่พัฒนามาเพื่อให้เราสามารถตอบสนองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพฤติกรรมนี้เริ่มส่งผลกระทบต่อเป้าหมายใหญ่ในชีวิต หรือรบกวนชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่น การเงิน สุขภาพ หรือความสัมพันธ์ อาจถึงเวลาที่เราต้องเริ่มหาวิธีจัดการอย่างจริงจังครับ
สิ่งสำคัญคือ 'การหาสมดุลระหว่างการมีความสุขในปัจจุบันและการมุ่งไปสู่เป้าหมายในอนาคต' ลองเริ่มต้นปรับตัวทีละนิด คุณจะพบว่าความสำเร็จในระยะยาวไม่ได้หมายความว่าต้องละทิ้งความสุขในตอนนี้นะครับ
ขอบคุณครับ
หมอวอป ณัฎฐชัย (จิตแพทย์)
----------------------
แหล่งอ้างอิง:
1. Xiao JJ, Porto N. Present bias and financial behavior. Financial Planning Review. 2019; 2:e1048. https://doi.org/10.1002/cfp2.1048