Emotional memory ความทรงจำทางอารมณ์

5 กุมภาพันธ์ 2025

คุณเคยไหมครับ...

จำบทสนทนาวันนั้นแทบไม่ได้แล้ว แต่ยังรู้ว่า "มันเจ็บ" แค่ไหน

นึกหน้าเขาไม่ค่อยออกแล้ว แต่แค่ได้ยินเพลงเดิม ๆ ก็ยังรู้สึกใจหวิว

ผ่านมาเป็นปี แต่บางทีความรู้สึกเก่า ๆ ก็ยังย้อนกลับมาเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน

นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะ ความทรงจำกับความรู้สึกทำงานผ่านระบบที่แตกต่างกัน


วันนี้ผมอยากชวนคุณมารู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า "emotional memory" หรือ "memory with feeling" คือ ความทรงจำทางอารมณ์ ซึ่งเป็นกลไกของสมองที่ทำให้เรายังคงรู้สึกถึงเหตุการณ์ในอดีตได้ แม้จะจำรายละเอียดไม่ได้ทั้งหมด

Emotional Memory คืออะไร?

โดยปกติ สมองเรามีสองระบบหลักที่เกี่ยวกับความทรงจำ ซึ่งทำงานร่วมกัน แต่มีหน้าที่แตกต่างกัน

  • Hippocampus – ช่วยจำ "รายละเอียดของเหตุการณ์" เช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่
  • Amygdala – ช่วยประมวลผล "อารมณ์" ที่เรารู้สึกในเหตุการณ์นั้น เช่น ความสุข ความเศร้า ความกลัว และช่วยให้สมองเชื่อมโยงอารมณ์เข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้เราสามารถจำความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ แม้จะลืมรายละเอียดของเหตุการณ์ไปแล้ว

อธิบายง่าย ๆ: Hippocampus จำ "เรื่องราว" ส่วน Amygdala จำ "ความรู้สึก"

ทำไมเราลืม "เหตุการณ์" แต่ยังรู้สึกถึงมันได้?

เหตุการณ์ที่มีอารมณ์รุนแรงถูกบันทึกไว้อย่างเข้มข้นกว่ารายละเอียดของเหตุการณ์:

หากเหตุการณ์นั้นส่งผลต่อจิตใจเราอย่างรุนแรง สมองจะให้ความสำคัญกับอารมณ์ที่เกี่ยวข้องมากกว่าข้อมูลรายละเอียด

ตัวอย่างเช่น:

ถ้าคุณเคยอกหักในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง วันหนึ่งเมื่อกลับไปที่ร้านเดิม คุณอาจไม่จำได้ว่าเคยนั่งโต๊ะไหน หรือคุยอะไรกันบ้าง

แต่สิ่งที่ยังอยู่คือ "ความรู้สึก" หน่วง ๆ ในใจ ที่ทำให้คุณรับรู้ได้ทันทีว่าสถานที่นี้เคยมีความหมายบางอย่าง

อารมณ์มีอิทธิพลต่อความจำมากกว่าข้อมูลทั่วไป:

เหตุการณ์ที่มีผลกระทบทางอารมณ์สูงมักถูกจดจำได้นานกว่า เช่น

  • ความรักครั้งแรก
  • การสูญเสียคนสำคัญ
  • เหตุการณ์ที่ทำให้เราตกใจหรือเสียใจ

ในขณะที่ ข้อมูลที่ไม่มีอารมณ์ร่วมมากพอ เช่น รหัสผ่าน หรือสิ่งที่กินเมื่อวาน มักถูกลืมเร็ว เพราะ สมองให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์มากกว่าข้อมูลที่ไม่มีความหมายทางอารมณ์

อธิบายง่าย ๆ: สมองไม่ได้ "เลือกเก็บ" ความทรงจำ แต่ เหตุการณ์ที่มีอารมณ์เกี่ยวข้องจะถูกเชื่อมโยงกับระบบความจำได้แข็งแกร่งกว่า

ทำไมบางเรื่องที่ "นานมาแล้ว" ยังย้อนกลับมาให้รู้สึกอีก?

ตัวกระตุ้นทางอารมณ์ (Emotional Triggers)

บางทีแค่ได้ยินเพลงเดิม ๆ ได้กลิ่นน้ำหอม หรือเดินผ่านสถานที่ที่เคยไปกับเขา สิ่งเหล่านี้สามารถกระตุ้น Amygdala และวงจรความจำทางอารมณ์ ทำให้ "อารมณ์เก่า ๆ" ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง

ตัวอย่างเช่น

ถ้าคุณเคยมีความทรงจำดี ๆ กับใครบางคนที่ใช้กลิ่นน้ำหอมเฉพาะ วันหนึ่งเมื่อได้กลิ่นนั้นอีกครั้ง คุณอาจรู้สึกบางอย่างขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

สมองไม่ได้ลืม… แต่ลดระดับการเข้าถึงความทรงจำบางอย่าง

สมองไม่ได้ "ลบ" ความทรงจำออกไปทั้งหมด แต่ระดับการเข้าถึงข้อมูลอาจลดลงตามเวลา และสามารถถูกกระตุ้นขึ้นมาใหม่เมื่อมีตัวกระตุ้นที่เหมาะสม

ตัวอย่างเช่น:

คุณอาจคิดว่า "ฉันลืมเรื่องนี้ไปแล้ว" แต่วันหนึ่งเห็นรูปถ่ายเก่า ๆ แล้วความรู้สึกทั้งหมดกลับมาในพริบตา

อธิบายง่าย ๆ: เราลืม "รายละเอียด" ได้ แต่มักลืม "ความรู้สึก" ไม่ได้

เราจะจัดการกับ "ความรู้สึกที่ยังอยู่" ได้อย่างไร?

เข้าใจว่ามันคือเรื่องปกติ

  • การที่ยัง "รู้สึก" ไม่ได้แปลว่าเรายังไม่ลืม หรือยังไม่ move on
  • มันแค่เป็นวิธีที่สมองจดจำเรื่องราวที่เคยมีความหมายกับเรา

อยู่กับมันอย่างไม่ตัดสิน

  • แทนที่จะพยายามลบมันออกไป ลองมองมันแบบไม่ตัดสินดูครับ แล้วปล่อยให้ทุกอย่างมันอยู่ในรูปแบบของ "ความทรงจำ"

เปลี่ยนการมองเหตุการณ์นั้นใหม่

  • ลองจินตนาการว่าถ้าสถานณ์การนี้เป็นเรื่องของคนอื่น ไม่ใช่เรื่องของคุณ คุณคิดรู้สึกอย่างไร เช่น ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดกับเพื่อนคุณ คุณรู้สึกอย่างไร โดยงานวิจัยพบว่า หากเราปรับมุมมองเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น สมองจะค่อย ๆ ลดระดับความเข้มข้นของอารมณ์ที่เกี่ยวข้องได้


แต่ถ้าความทรงจำนั้นสร้างความเจ็บปวด หรือกลายเป็นบาดแผลในจิตใจ ผมอยากให้คุณลองเปิดใจพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญนะครับ เพราะบางเรื่องอาจหนักเกินกว่าที่เราจะรับมือเพียงลำพัง ในทางจิตวิทยามีหลายเทคนิคที่สามารถช่วยให้เราค่อย ๆ ปรับจาก memory with feeling เป็น memory without feeling เพื่อให้ความทรงจำเหล่านั้นไม่ฉุดรั้งเราไว้กับความเจ็บปวด


หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจตัวเองมากขึ้น และอยู่กับความทรงจำเหล่านั้นได้อย่างสบายใจขึ้นนะครับ

หมอวอป ณัฎฐชัย (จิตแพทย์)


-----------------


แหล่งอ้างอิง:

1. LaBar, K., Cabeza, R. Cognitive neuroscience of emotional memory. Nat Rev Neurosci 7, 54–64 (2006).

2. R. J. Dolan ,Emotion, Cognition, and Behavior.Science298,1191-1194(2002).DOI:10.1126/science.1076358

Google+
Line

บทความล่าสุด

การเติบโตเริ่มต้นจากการเข้าใจตัวเอง ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ สำรวจจิตใจ อารมณ์และความคิดผ่านมุมมองทางจิตวิทยา มาร่วมเดินทางแห่งการเรียนรู้ พัฒนา และเติบโตไปด้วยกันกับ wLife

ติดต่อเรา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Line: @454lrxza pn.wellbeing.th@gmail.com
089-6435966
social-icon
social-icon

© 2025 https://www.w-lifeacademy.com/admin