ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก (Triangular Theory of Love)

5 กุมภาพันธ์ 2025

ความรักของคุณเป็นแบบไหน?

ผมว่าคำถามนี้ถามร้อยคนก็คงได้คำตอบไม่เหมือนกัน เพราะความรักไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิด มันขึ้นอยู่กับมุมมองและนิยามของแต่ละคน

วันนี้ผมเลยอยากชวนทุกคนมาดู “ความรัก” ในมุมมองทางจิตวิทยากันครับ โดยใช้ทฤษฎีชื่อดังที่เรียกว่า ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก (Triangular Theory of Love) ซึ่งพัฒนาโดย Robert Sternberg นักจิตวิทยาชื่อดัง ที่อธิบายว่าความรักมีองค์ประกอบหลัก 3 ด้าน ได้แก่:


1. ความใกล้ชิด (Intimacy):

เป็นองค์ประกอบด้านอารมณ์ เช่น ความเข้าใจกัน ความไว้วางใจ ความเอื้ออาทรต่อกัน และการสื่อสารที่ลึกซึ้ง

2. ความเสน่หา (Passion):

เป็นองค์ประกอบด้านแรงจูงใจ เช่น ความหลงใหล ความดึงดูดทางกายภาพ หรือความรู้สึกตื่นเต้นเวลาที่อยู่ใกล้กัน

3 ความผูกมัด (Commitment):

เป็นองค์ประกอบด้านความคิด เช่น การตัดสินใจอยู่เคียงข้างกันในระยะยาว การตกลงเป็นแฟน การแต่งงาน หรือการใช้ชีวิตร่วมกัน


จาก 3 องค์ประกอบนี้ Sternberg ได้จำแนกความรักออกเป็น 8 รูปแบบ ดังนี้:

  • Nonlove (ไม่มีความรัก): ไม่มีองค์ประกอบทั้งสามเลย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างคนแปลกหน้า
  • Liking (ความชอบ): มีแค่ความใกล้ชิดเท่านั้น เกิดขึ้นกับคนที่เราสนิทสนมด้วย เช่น เพื่อน รุ่นพี่ รุ่นน้อง
  • Infatuated Love (รักแบบหลงใหล): มีแค่ความเสน่หาเท่านั้น เช่น รักแรกพบ ที่เกิดความดึงดูดทางกายภาพ ความปรารถณา (รักรูปแบบนี้มักลดลงเมื่อคู่รักคบกันนานขึ้น)
  • Empty Love (รักที่ว่างเปล่า): มีแค่ความผูกมัดเท่านั้น เช่น คู่แต่งงานที่อยู่ด้วยกันเพราะหน้าที่ (ซึ่งอาจพัฒนาองค์ประกอบอื่นภายหลังได้)
  • Romantic Love (รักแบบโรแมนติก): มีทั้งความใกล้ชิดและความเสน่หา เช่น ความสัมพันธ์ช่วงแรก ๆ ที่หวานชื่น สวีทกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน แต่ยังไม่มีการผูกมัดระยะยาว
  • Companionate Love (รักแบบมิตรภาพ): มีทั้งความใกล้ชิดและความผูกมัด มักเกิดในความสัมพันธ์ระยะยาว เช่น เพื่อนสนิท หรือคู่แต่งงานที่ใช้ชีวิตร่วมกันมานาน
  • Fatuous Love (รักแบบไร้สติ): มีความเสน่หาและความผูกมัด เช่น การพบรักและตัดสินใจเป็นแฟนหรือแต่งงานกันอย่างรวดเร็ว (ซึ่งรักแบบนี้มักจบลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน)
  • Consummate Love (รักสมบูรณ์แบบ): มีครบทั้งสามองค์ประกอบ คือ ความใกล้ชิด ความเสน่หา ความผูกมัด จัดเป็นรักในอุดมคติที่หลายคนปรารถนา แต่ยากที่จะรักษาสภาพนี้ไว้ได้ตลอด

แล้วจะรู้จักรูปแบบความรักไปทำไม?

สิ่งสำคัญคือ เมื่อคุณเข้าใจว่าความรักของคุณเป็นแบบไหน คุณสามารถเลือกพัฒนาส่วนที่ขาดหายไปให้ดียิ่งขึ้นได้ เช่น:

- หากคุณรู้สึกว่าความรักของคุณขาด "ความใกล้ชิด" ลองพูดคุยและเปิดใจกับคู่ของคุณ เพื่อหาทางใช้เวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้น

- หากคุณรู้สึกว่า "ความเสน่หา" เริ่มลดน้อยลง ลองสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ร่วมกัน เช่น การไปเดทในสถานที่ที่ไม่เคยไป เปลี่ยนการแต่งกาย เสริมสวย/หล่อ เพื่อสร้างเสน่ห์ดึงดูดให้ตนเอง

- หากคุณต้องการเพิ่ม "ความผูกมัด" อาจเริ่มต้นด้วยการวางแผนระยะยาวร่วมกัน เช่น เป้าหมายชีวิตคู่


สุดท้ายนี้ ผมในฐานะจิตแพทย์ที่เคยดูแลเคสคู่รักมาก็เยอะ ผมอยากฝากคำถามสำคัญไว้ 2 ข้อครับ:

  1. ความรัก/ความสัมพันธ์ของคุณในตอนนี้เป็นแบบไหน?
  2. แล้วคุณวางแผนดูแลความสัมพันธ์นี้อย่างไร?

ลองหาคำตอบดูนะครับ มันจะช่วยให้คุณเข้าใจตัวเองและดูแลสัมพันธ์ของคู่ของคุณได้ดีขึ้นครับ เพราะในแต่ละความสัมพันธ์ ไม่มีแบบไหนที่ "สมบูรณ์แบบตลอดไป" แต่เราสามารถพัฒนาความรักให้ดีขึ้นได้เสมอ...อย่ารอให้มันสายเกินไปครับ


ขอบคุณครับ

หมอวอป ณัฎฐชัย (จิตแพทย์)


--------------------



แหล่งอ้างอิง:

1. Sternberg, R. J. (1986). A triangular theory of love. Psychological Review, 93(2), 119–135. https://doi.org/10.1037/0033-295X.93.2.119

2. Chulalongkorn University, Faculty of Psychology. Triangular theory of love. 2024. Available from: https://www.psy.chula.ac.th/.../triangular-theory-of-love/

Google+
Line

บทความล่าสุด

การเติบโตเริ่มต้นจากการเข้าใจตัวเอง ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ สำรวจจิตใจ อารมณ์และความคิดผ่านมุมมองทางจิตวิทยา มาร่วมเดินทางแห่งการเรียนรู้ พัฒนา และเติบโตไปด้วยกันกับ wLife

ติดต่อเรา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Line: @454lrxza pn.wellbeing.th@gmail.com
089-6435966
social-icon
social-icon

© 2025 https://www.w-lifeacademy.com/admin