Perfectionism บุคลิกภาพที่คนเราตั้งมาตรฐานกับตัวเองสูงมาก

5 กุมภาพันธ์ 2025

“ไม่ต้องสมบูรณ์แบบบ้างก็ได้ครับ”


คุณเคยรู้สึกแบบนี้ไหมครับ? ว่าทุกสิ่งที่ทำในชีวิตต้องออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ว่าจะเป็นงาน การเรียน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน ผมเข้าใจครับว่าการตั้งมาตรฐานสูงให้ตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่ดี แต่มันจะเริ่มกลายเป็นปัญหาเมื่อความสมบูรณ์แบบนี้กลายเป็นภาระที่ทำให้คุณเหนื่อยและรู้สึกว่าตัวเองไม่เคยดีพอ

ในทางจิตวิทยา Perfectionism หมายถึงลักษณะบุคลิกภาพที่คนเราตั้งมาตรฐานกับตัวเองสูงมาก โดยมักเชื่อมโยงกับการวิจารณ์ตัวเองอย่างรุนแรงและความกลัวความล้มเหลว ซึ่งแตกต่างจาก 'การแสวงหาความเป็นเลิศ (pursuit of excellence)' ที่เน้นการพัฒนาตัวเองแบบยืดหยุ่นมากกว่า

แต่ผมไม่ได้จะบอกว่าการเป็น Perfectionist นั้นไม่ดีเสมอไปนะครับ เพราะหลายคนที่ผมรู้จักประสบความสำเร็จจากการผลักดันตัวเองในลักษณะนี้ แต่สิ่งสำคัญคือการ 'หาจุดสมดุล' ระหว่างการตั้งมาตรฐานสูงและการมีความสุขในชีวิตครับ

แล้ว Perfectionism เกิดขึ้นได้อย่างไร?

มีหลายงานวิจัยกล่าวว่า perfectionism มักมีต้นกำเนิด ดังนี้:

1. Self-esteem ที่ไม่มั่นคง:

มักพบในเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่ให้ความรักแบบมีเงื่อนไข เช่น “ลูกจะได้รับคำชม ถ้าทำ....สำเร็จเท่านั้น” 

ตัวอย่าง: เด็กที่เชื่อว่าต้องได้เกรด 4.0 ทุกวิชาเพื่อให้พ่อแม่ภูมิใจ >> ทำให้เด็กรู้สึกว่าคุณค่าของตัวเองขึ้นอยู่กับความสำเร็จ

2. Cognitive Distortions (การบิดเบือนทางความคิด):

- All-or-Nothing Thinking: มองทุกอย่างเป็น “สำเร็จ” หรือ “ล้มเหลว”

ตัวอย่าง: ถ้าไม่ได้คำชมจากหัวหน้าในงาน แปลว่าตัวเองทำได้ไม่ดีพอ (ทั้งทีความจริงแล้วอาจจะมีทั้งส่วนที่ดีและไม่ดีปนกัน ไม่ได้แปลว่า "แย่ทั้งหมด" หรืออาจจะเป็นเหตุผลง่ายๆ เช่น หัวหน้าไม่ว่างชมคุณเฉย ๆ)

-Ignoring the Positive: เพิกเฉยต่อความสำเร็จเล็ก ๆ ของตัวเอง

ตัวอย่าง: คิดว่า “ฉันแค่โชคดี ไม่ใช่เพราะความสามารถของตัวเอง”


เห็นไหมครับว่าความคิดเหล่านี้ทำให้ Perfectionists ติดอยู่ในวงจรของความกดดันและการวิจารณ์ตัวเองอย่างหนัก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตนเองและคนรอบตัวได้ด้วยเช่นกัน เช่น 

- เกิดความเครียดและความกดดันในใจเพราะคิดว่ายัง "ไม่ดีพอ" 

- หลายครั้งพวกเขายอมเลื่อนงานออกไป เพราะกลัวว่าผลลัพธ์จะไม่สมบูรณ์แบบ

- มีความคาดหวังสูงจากตัวเองและคนรอบตัว อาจทำให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์

วิธีสร้างสมดุลระหว่างความสมบูรณ์แบบและความสุข?

1. ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ:

เริ่มต้นจากการถามตัวเองว่า “สิ่งนี้ดีพอสำหรับวันนี้หรือยัง?” แทนการถามว่า “มันสมบูรณ์แบบหรือยัง?”

2. ฝึกสติ (Mindfulness):

การอยู่กับปัจจุบันช่วยลดความกดดัน ลองฝึกสมาธิ หรือทำกิจกรรมที่ช่วยดึงความสนใจกลับมาที่ตัวเอง

3. ปรับเป้าหมายให้ยืดหยุ่น:

แทนที่จะตั้งเป้าหมายให้สมบูรณ์แบบ ให้เริ่มจากเป้าหมายเล็ก ๆ และเฉลิมฉลองทุกก้าวที่เดินหน้า

4. มองความผิดพลาดเป็นโอกาส:

เปลี่ยนมุมมองว่าความผิดพลาดคือครูที่ช่วยให้เราเติบโต


การปล่อยให้ตัวเองไม่สมบูรณ์แบบไม่ได้แปลว่าคุณกำลังล้มเหลว แต่มันคือการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้พัก มีความสุข และก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง"

ลองถามตัวเองดูนะครับว่า คุณกำลังทำสิ่งนี้เพื่อพัฒนาตัวเอง หรือเพื่อปกปิดความกลัว?


ขอบคุณครับ

หมอวอป ณัฎฐชัย (จิตแพทย์)


----------


แหล่งอ้างอิง: 

1. Kelly J. D., 4th (2015). Your Best Life: Perfectionism--The Bane of Happiness. Clinical orthopaedics and related research, 473(10), 3108–3111.

2. Jessica Rohlfing Pryor, core faculty member at the Counseling Program from the Family Institute at Northwestern University.

Google+
Line

บทความล่าสุด

การเติบโตเริ่มต้นจากการเข้าใจตัวเอง ค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ สำรวจจิตใจ อารมณ์และความคิดผ่านมุมมองทางจิตวิทยา มาร่วมเดินทางแห่งการเรียนรู้ พัฒนา และเติบโตไปด้วยกันกับ wLife

ติดต่อเรา

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Line: @454lrxza pn.wellbeing.th@gmail.com
089-6435966
social-icon
social-icon

© 2025 https://www.w-lifeacademy.com/admin